ข้อมูลที่น่าสนใจมีว่า…นับตั้งแต่ปี 2550-2557 คนไทยป่วยและเสียชีวิตจากโรคหัวใจ (ischemic heart disease IHD) และหลอดเลือดเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 24 และร้อยละ 41.3 ตามลำดับ
ผลมาจากการเพิ่มขึ้นของปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ที่เพิ่มมากขึ้น
นพ.อนุสิทธิ์ ทัฬหสิริเวทย์ อายุรแพทย์หัวใจ รพ.หัวใจกรุงเทพ บอกว่า ยุคปัจจุบันมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญหลายประการที่ต้องคำนึงถึง สิ่งสำคัญ คือการป้องกัน พยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ที่เราเจอบ่อยในยุคนี้ก็คือ “ไขมันทรานส์” จะทำให้เส้นเลือดมีปัญหาก่อนวัยอันควรเมื่อเทียบกับคนรุ่นพ่อรุ่นแม่เรา
“รุ่นพ่อรุ่นแม่ก็จะเป็นเส้นเลือดเสื่อมตามอายุ เป็นพวกไขมันอิ่มตัวจากมันหมู พวกแกงกะทิ ขนมหวานที่เป็นกะทิ โดยทั่วไปจะมีเส้นเลือดเสื่อม …หลอดเลือดตีบตันตอนที่อายุ 40 ปีโดยประมาณ แต่รุ่นปัจจุบัน เด็กรุ่นใหม่จะทานอาหารในส่วนที่มีอาหารตะวันตกมากขึ้น ประเภททอดๆ จังก์ฟู้ด…ทั้งหมดมีส่วนประกอบของไขมันทรานส์ ซึ่งมีความร้ายแรงกว่าไขมันอิ่มตัวแบบไขมันรุ่นเก่า…เร็วกว่า 2 เท่า”

จะเห็นว่า…หลอดเลือดจะอุดตันเร็วกว่า ผู้ป่วยที่พบล่าสุด อายุ 19 ปีเท่านั้นเอง
“คนอายุน้อยจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ…จะพบเร็วและอายุน้อยมากขึ้น ถือเป็นโชคดีที่กระทรวงสาธารณสุข ประกาศกฎกระทรวงห้ามใช้ไขมัน ทรานส์ทุกชนิดเพราะว่าด้วยเหตุที่ว่าคนไทยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมองกันเยอะ”
นพ.อนุสิทธิ์ ย้ำว่า ถือว่าเป็นหน้าแรกของการป้องกันระดับประชาชนเลยก็ว่าได้ และก็มีผลมากตามมา ยกตัวอย่างในรัฐนิวยอร์กประกาศงดใช้ไขมันทรานส์มานับ 10 ปีก่อนเราแล้ว โดยที่เขามีอัตราการนอนโรงพยาบาลด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันและโรคหลอดเลือดสมองลดลงถึง 16 เปอร์เซ็นต์
ในยุโรปกลุ่มประเทศที่พัฒนาทั้งหลายก็เกิดขึ้นก่อนเรามาก แต่บ้านเราก็ถือว่ายังโชคดียังเป็นประเทศต้นๆในแถบเอเชียที่กล้าประกาศงดใช้ไขมันทรานส์ นับเป็นวาระแห่งชาติการปฏิรูปการป้องกัน
ตอกย้ำข้อสำคัญสำหรับทุกคนที่พึงระวังในการห่างไกล “โรคหัวใจ” อันดับหนึ่ง…เราควรหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์ ถัดมาก็ต้องออกกำลังกาย และลดน้ำหนักตัวส่วนเกินทั้งหมด
ปัจจุบัน “คนวัยทำงาน” จะมีความเสี่ยงที่จะมีน้ำหนักตัวเกิน …ช่วงอายุ 30-40 ปี มีน้ำหนักเกิน…มีรอบเอวที่เกินประมาณ 48 เปอร์เซ็นต์เกือบครึ่งหนึ่งของคนวัยทำงานที่มีปัจจัยเสี่ยงในข้อนี้
“ต้องมาป้องกันเชิงรุก เพราะในกลุ่มอายุ 30-40 ปี เป็นคนวัยทำงานที่ต้องดูแลครอบครัว ดูแลผู้สูงวัยในบ้านในครอบครัวตัวเอง ที่เป็นภาระตามสถิติก็ต้องดูแลพ่อ แม่ ลูก…อย่างน้อย ต้องดูแล 3 ชีวิต ดังนั้น ถ้าตัวของเขาเองไม่ป้องกันแล้ว เกิดขาดคนที่ดูแลซึ่งเป็นเสาหลักของครอบครัว ก็จะเกิดปัญหาต่อเนื่องตามมา”
อีกปัจจัยหนึ่งในกลุ่มที่เมื่อเราคัดกรองแล้วพบว่ามีความเสี่ยง “ไขมันสูง” นอกจากว่าเราจะควบคุมอาหารและออกกำลังกายแล้ว…แล้วระดับไขมันไม่ลดลงตามที่ต้องการ ก็ควรที่จะต้องทานยาลดไขมัน
คนที่เข้าเกณฑ์เสี่ยงสูง แต่ตัวเองไม่ทานยาลดไขมัน จะเป็นกลุ่มที่อันตรายที่สุด

“ให้เข้าใจตรงกันว่า…ลำพังการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายจะช่วยลดไขมันในร่างกายของตัวเองได้ 5-10 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ารับประทานยาด้วยจะช่วยลดได้ 30-50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มเฉพาะที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น…ถ้าเสี่ยงสูงแล้วไม่ทานยาก็จะมีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มที่เสี่ยงสูงทั่วๆไป”
การดูแลแบบ “องค์รวม” ต้องดูแลแบบครบทุกมิติ ทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดน้ำหนัก แล้วก็ทานยา ต้อง 3 องค์ประกอบพร้อมๆควบคู่กันไป เพราะบางคนดูแลทุกอย่างแต่ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่ได้
ปัจจุบันนี้ควรเริ่มการเริ่มป้องกันตั้งแต่แรกเกิดจนถึงเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีการดูแลอาหาร การรับประทาน การตรวจร่างกายแต่เนิ่นๆ ว่ามีพันธุกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือประวัติครอบครัวที่มีปัจจัยเสี่ยงหรือไม่
แน่นอนว่าปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ เกิดได้จาก 2 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยเสี่ยงทางร่างกายที่สามารถป้องกันได้ คือโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และการสูบบุหรี่
ถัดมาก็คือ…พันธุกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันหรือแก้ไขไม่ได้ แต่การป้องกันโรคสำคัญกว่าการรักษาโรค ดังนั้น เราควรตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลป้องกันหัวใจให้ห่างไกลโรคกับพฤติกรรมอย่างที่สามารถทำได้ทุกเพศทุกวัย เพื่อป้องกันโรคหัวใจไปตลอดชีวิต
ออกกำลังกายเป็นประจำ…งดการสูบบุหรี่…รักษาระดับของ HDL ไขมันดีให้มากกว่า 60 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ท่องจำให้แม่นไว้ “บุหรี่”…เป็นตัวการใหญ่หลอดเลือดหัวใจไม่แข็งแรง

การสูบบุหรี่ไม่ว่าจะสูบมากหรือสูบน้อยส่งผลต่อความเสี่ยงโรคหัวใจเท่ากัน เนื่องจากสารนิโคตินและก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในควัน และสารอื่นๆในบุหรี่ มีผลทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ผนังเส้นเลือดหนา เกิดคราบหินปูนเกาะบริเวณหลอดเลือด เส้นเลือดเกิดความอ่อนแอเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ หัวใจเกิดการทำงานผิดปกติ ขาดออกซิเจนและหัวใจวายเฉียบพลันได้
และให้จำอีกว่า…ถึงแม้จะรับประทานอาหารที่มีไขมันดี แต่ถ้าพักผ่อนน้อยแถมมีความเครียดสูงก็ไม่ใช่เรื่องดีต่อร่างกาย ต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ แต่ละคนจะมีนาฬิกาเวลาของตัวเองเป็นเหมือนกฎธรรมชาติ การอดนอนหรือพักผ่อนน้อยจะมีผลเสียต่อฮอร์โมนเกิดความเครียด การนอนหลับจึงเป็นสิ่งสำคัญ
ถ้าอยากให้หัวใจแข็งแรง ควรนอนให้ได้ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน และจะต้องนอนหลับลึก เพื่อให้สมองและหัวใจได้พักผ่อนเต็มที่ ไม่ใช่จำนวนชั่วโมงเพียงอย่างเดียวที่สำคัญ คุณภาพการนอนต้องดีด้วย
สำหรับสัญญาณเตือน “โรคหัวใจ” ต้องมีอาการเหนื่อย เจ็บแน่น หน้าอก คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติทั้งตอนที่อยู่เฉยๆและตอนออกกำลังกาย ต้องตรวจสอบให้ละเอียด…แล้วถ้ามีอาการชนิดเฉียบพลันก็ต้องเจาะเลือดตรวจดูให้ละเอียดว่ามีการตายของกล้ามเนื้อแบบเฉียบพลันไหม

ปัญหาสำคัญความเสี่ยง “โรคหัวใจ” วันนี้มีอายุน้อยลงไม่ถึง 20 ปี ก็เกิดขึ้นได้ ปัจจัยสำคัญอันดับแรกที่มีความเชื่อมโยงก็คือพันธุกรรม สองก็คือได้รับไขมันทรานส์ที่เยอะตั้งแต่เด็กสะสมไปเรื่อยๆ ตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบ ก็ได้รับแล้ว ทานมาเรื่อยๆเส้นเลือดก็จะเสื่อมก่อนวัยอันควร
“ป้องกันดีกว่าแน่นอน ดีกว่าไปแก้ที่หลัง เป็นโรคหัวใจแล้วจะมีภาวะแทรกซ้อนตามมาอีกมาก เช่น หลอดเลือดอุดตันที่หัวใจ หลอดเลือดอุดตันที่สมอง ในส่วนที่ปลายหลอดเลือดที่แขนขา ก็ต้องตามแก้กัน ต้องขยายหลอดเลือดตรงนั้น อาจจะใส่ขดลวดหรือว่าการทำบายพาส”
เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ ทั้งค่าใช้จ่ายในส่วนที่ผู้ป่วยจะต้องดูแลตัวเอง เวลาที่ต้องเสียไป ซึ่งโรคหัวใจมีสัดส่วนความสูญเสียค่อนข้างเยอะลำดับต้นๆนอกเหนือจากอุบัติเหตุ
หัวใจของเรามีเพียงแค่ดวงเดียว…“โรคหัวใจ” น่ากลัว น่ากังวลแต่ป้องกันได้แต่เนิ่นๆ
#1แชร์=1ธรรมทาน แชร์ไปได้บุญ สร้างกุศลความดี
#ถ้าข้อมูลนี่เป็นประโยชน์และสามารถช่วยใครได้อีกหลายๆคน อย่าเก็บไว้อ่านคนเดียวน๊า!! อย่าลืมส่งให้คนที่คุณรัก ได้อ่านด้วยนะคะ