เตือนภัย “Phishing” กลลวงใหม่ยุคไซเบอร์ ล้วงข้อมูลรหัสส่วนตัว แยบยลจนเหยื่อไม่รู้ตัว
วันที่15 ธ.ค.61เพจ123 คนดีมีน้ำใจ รับแจ้งข้อมูลเตือนภัยจากคุณรณชัย จากการติดตามเพจ123คนมีน้ำใจ จะเห็นได้ว่าตอนนี้คนถูกหลอก ทาง Facebook และ ธุรกรรมออนไลน์ กันมาก ซึ่งผมเองก็โดน Phishing บัตรเครดิต KTC แต่ดีที่มูลค่าความเสียหายไม่มาก ตอนนี้กำลังทำเรื่อง ปฏิเสธการเรียกเก็บ KTC จำนวน 1,080 บาท จึงอยากแจ้งฝากเตือน…
หลายท่านอาจเคยได้ยินเกี่ยวกับการทุจริตทางสื่ออินเทอร์เน็ตโดยอาศัยการปลอมแปลงหน้าเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่อล่อลวงให้ผู้ใช้บริการกรอกข้อมูลรหัสประจำตัว และรหัสผ่านโดยที่มิได้สังเกตเห็นความผิดปกติของเว็บไซต์ที่เปลี่ยนไป ตามหน้าเว็บไซต์ของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยมักมีการแจ้งเตือนผู้ใช้บริการเกี่ยวกับเว็บไซต์ปลอมแปลงเหล่านี้เป็นประจำ เพราะเป้าหมายสำคัญของกลุ่มผู้ทุจริตที่เลือกใช้วิธีการโจมตีแบบนี้นั้นมักเป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการทางการเงิน
โดยหวังผลที่จะแอบลักลอบโอนเงินไปสู่บัญชีปลายทางแห่งใดแห่งหนึ่งแล้วถอนเงินหรือโอนขโมยเงินเหล่านั้นออกไป นี่เป็นเพียงหนึ่งในเทคนิคของสิ่งที่เรียกว่า Phishing นั่นเอง คือกลวิธีในการหลอกลวงเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลอันจะนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ถูกล่อลวง ข้อมูลส่วนบุคคลที่กล่าวถึงนี้มักจะเป็น รหัสประจำตัวต่างๆ รหัสในการเข้าใช้งานระบบ รหัสผ่าน เลขที่บัตรเครดิต เลขที่บัญชี หรือเลขที่บัตรประชาชน
กลวิธีในการหลอกลวงผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น e-Mail Web site ทางโทรศัพท์ Mobile Application SMS Phishing หรือ SMiShing ช่องทางต่างๆล้วนอยู่ใกล้ตัวท่านมาก
ทำอย่างไรไม่ให้เป็นเหยื่อ Phishing ระมัดระวังไม่หลงเชื่อข้อความใดๆใน e-Mail หรือโทรศัพท์ หากมีการอ้างว่าส่งหรือติดต่อมาจากสถาบัน หรือบริษัทใดก็ตาม ควรค้นหาหมายเลขโทรศัพท์ของสถาบันหรือบริษัทนั้น หรือติดต่อไปยังหน่วยงาน Call Center ของบริษัทนั้นๆ (อย่าติดต่อไปตามหมายเลขโทรศัพท์ที่มีอยู่ใน e-Mail ต้องสงสัยฉบับนั้น) เพื่อตรวจสอบว่ามีการส่ง e-Mail ลักษณะดังกล่าวจริงหรือไม่ หรือส่งจากหน่วยงานใด ไม่คลิกลิงค์ใน e-Mail เพื่อการเข้าสู่หน้าเว็บไซต์ ให้ใช้วิธีพิมพ์ URL เข้าสู่เว็บไซต์ของบริษัทดังกล่าวด้วยตัวท่านเอง เป็นวิธีการป้องกันมิให้เผลอคลิกเข้าสู่เว็บไซต์ปลอมที่กลุ่มผู้กระทำการทุจริตนั้นเตรียมไว้
หากเกิดความสงสัย อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เช่นเลขที่บัตรประชาชน เลขบัตรเครดิต เลขที่บัญชี หรือรหัส ATM แก่บุคคลอื่น หมั่นตรวจสอบข้อมูลการทำรายการธุรกรรมของท่านอย่างสม่ำเสมอโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ครบ 1 เดือน แล้วจึงตรวจสอบจากใบแจ้งรายการ และตรวจสอบให้แน่ใจว่าไม่มีรายการธุรกรรมแปลกปลอม หากพบรายการที่น่าสงสัย ให้ติดต่อธนาคารหรือบริษัทผู้ให้บริการ ก่อนทำการดาวน์โหลด ผู้ใช้งานควรสังเกตและดูชื่อผู้พัฒนาโปรแกรม เช่น หากเป็นแอพพิเคชั่น Mobile banking จะต้องเป็นชื่อธนาคารเท่านั้น
ในกรณีที่ไม่แน่ใจไม่ควรดาวน์โหลดหรืออาจจะเช็คกับบริษัทเจ้าของแอพพิเคชั่นก่อนว่าเป็นของจริง และที่สำคัญควรลงโปรแกรม Anti-virus ในอุปกรณ์และหมั่นอัพเดทอยู่เสมอเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้งานอุปกรณ์อิเล็คโทรนิคของคุณ เมื่อได้รับข้อความ SMS หรือ IM ที่น่าสงสัย จงอย่าคลิกลิงค์ใดๆใน ข้อความนั้น แม้ข้อความจะถูกส่งมาจากผู้ที่ท่านรู้จักก็ตาม
ภาพ/ข่าว เพจ 123 คนดีมีน้ำใจ โดยสำนักข่าวทีนิวส์
#1แชร์=1ธรรมทาน แชร์ไปได้บุญ สร้างกุศลความดี
#ถ้าข้อมูลนี่เป็นประโยชน์และสามารถช่วยใครได้อีกหลายๆคน อย่าเก็บไว้อ่านคนเดียวน๊า!! อย่าลืมส่งให้คนที่คุณรัก ได้อ่านด้วยนะคะ